ประวัติความเป็นมาของสัตว์ป่าสงวน

              



       สัตว์ป่าสงวน หมายถึง สัตว์ป่าที่หายาก กำหนดตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 จำนวน 9 ชนิด เป็นสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ได้แก่ แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมัน เนื้อทราย เลียงผาและกวางผา

     






       สัตว์ป่าสงวนเป็นสัตว์หายาก, ใกล้จะสูญพันธุ์ หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเข้มงวดกวดขัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่สัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอยู่หรือซากสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะตกไปอยู่ยังต่างประเทศด้วยการซื้อขาย ต่อมาเมื่อสถานการณ์ของสัตว์ป่าในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป สัตว์ป่าหลายชนิดมีแนวโน้มถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น ประกอบกับเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศในการ ควบคุมดูแลการค้าหรือการลักลอบค้าสัตว์ป่าในรูปแบบต่าง ๆ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าหรือ CITES ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาในปี พ.ศ. 2518 และได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2526 นับเป็นสมาชิกลำดับที่ 80 จึงได้มีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับเดิมและตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535




สัตว์ป่าสงวนตามในพระราชบัญญัติฉบับใหม่ หมายถึง สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้และตามที่กำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงชนิดสัตว์ป่าสงวนได้โดยสะดวกโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขหรือเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่ต้องถึงกับต้องแก้ไขพระราชบัญญัติอย่างของเดิม ทั้งนี้ได้มีการเพิ่มเติมชนิดสัตว์ป่าที่มีสภาพล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง 7 ชนิด และตัดสัตว์ป่าที่ไม่อยู่ในสถานะใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากการที่สามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้มาก 1 ชนิด คือ เนื้อทราย รวมกับสัตว์ป่าสงวนเดิม 8 ชนิด รวมเป็น 15 ชนิด ได้แก่
  1. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae)
  2. แรด (Rhinoceros sondaicus)
  3. กระซู่ (Dicerorhinus sumatrensis)
  4. กูปรีหรือโคไพร (Bos sauveli)
  5. ควายป่า (Bubalus bubalis)
  6. ละอง หรือละมั่ง (Rucervus eldi)
  7. สมัน หรือเนื้อสมัน (Rucervus schomburki)
  8. เลียงผา หรือเยือง หรือกูรำ หรือโครำ (Capricornis sumatraensis)
  9. กวางผาจีน (Naemorhedus griseus)
  10. นกแต้วแร้วท้องดำ (Pitta gurneyi)
  11. นกกระเรียนไทย (Grus antigone)
  12. แมวลายหินอ่อน (Pardofelis marmorata)
  13. สมเสร็จ (Tapirus indicus)
  14. เก้งหม้อ (Muntiacus feai)
  15. พะยูน หรือหมูน้ำ (Dugong dugon)

พระราชบัญญัติค้มครองสัตว์ป่าสงวน


1. สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

2. ห้ามครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

3. ห้ามเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

4. ในกรณีที่การล่าเป็นการล่าเพื่อปกป้องตนเองหรือผู้อื่นหรือทรัพย์สิน หรือเหตุอื่นที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ ไม่ต้องรับโทษ 

5. การห้ามการครอบครองและห้ามค้า มีผลไปถึงไข่และซากของสัตว์เหล่านั้นด้วย 

ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรังของสัตว์ ยกเว้นรังนกอีแอ่น (นกแอ่นกินรัง) ซึ่งต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน

คุณประโยชน์ของสัตว์ป่า

คุณประโยชน์ของสัตว์ป่า แบ่งออกได้เป็น 6 ประการ คือ

          1. คุณประโยชน์ด้านการค้า (Commercial values) เป็นประโยชน์ที่เราได้รับจากการค้าสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่า หรือผลิตผลที่ได้จากสัตว์ป่า ทั้งเป็นการค้าภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นการนำมาซึ่งรายได้ และนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งผลิตผลที่ได้จากสัตว์ป่า
นำไปทำเป็นการอุตสาหกรรมทางด้านอื่นๆ ได้อีกเช่น อาหารของมนุษย์ อาหารสัตว์ ปุ๋ย กาวยารักษาโรค แปรง เครื่องปัดฝุ่น เครื่องนุ่งห่ม สบู่ วัตถุระเบิด ผ้าขนสัตว์ และเครื่องประดับต่างๆ

          2. คุณประโยชน์ทางด้านการพักผ่อนหย่อนใจ (Recreational Yalues) เป็นประโยชน์ที่มนุษย์ได้จากการไปเที่ยวดู ชมสัตว์ป่า การถ่ายรูป การสะกดรอย การสังเกตพฤติกรรมเพื่อความเพลิดเพลิน ซึ่งไม่สามารถวัดด้วยเงินตราว่ามีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ยังทำรายได้ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องอีก เช่น ขายฟิล์มถ่ายรูป เข็มทิศ กระติกน้ำ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่เข้าไปชมสัตว์ป่าจะได้ซื้อไปใช้

          3. คุณประโยชน์ทางด้านชีววิทยา (Biological Values) เป็นประโยชน์ที่นับได้ว่ามีความสำคัญต่อมนุษย์อยู่มาก เช่น ช่วยแพร่ขยายชนิดพันธุ์ไม้ กำจัดแมลงศัตรูพืช ทำลายสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช กำจัดสิ่งปฎิกูล ฯลฯ เป็นต้น อาจจะเป็นประโยชน์ทางอ้อมสำหรับมนุษย์ เช่น สัตว์ที่กินลูกไม้สุกเป็นอาหาร ในท้องที่หนึ่ง และนำไปถ่ายมูลในอีกท้องที่หนึ่ง จะทำให้เมล็ดนั้นงอกขึ้นมาในท้องที่ใหม่ มีคุณประโยชน์ต่อป่าไม้ แมลง หลายชนิดที่ชอบกินผลผลิตทางการเกษตร ก็มีนกบางชนิดที่กินแมลงนั้นเป็นอาหาร นกเหยี่ยว นกฮูก นกเค้าแมว ชอบจับหนูกินเป็นอาหาร จะช่วยลดจำนวนหนู ซึ่งมักจะทำลายข้าวกล้าในนา นกแร้งที่กินสัตว์เน่าเป็นอาหาร ช่วยกำจัดสิ่งปฎิกูลแทนเจ้าหน้าที่

          4. คุณประโยชน์ทางด้านความงามตามธรรมชาติ (Esthetis Values) เป็นคุณประโยชน์เกี่ยวข้องกับจิตใจมนุษย์ ความนึกคิด แรงบันดาลใจจากที่ได้เห็นสัตว์ป่านำไปแต่งเป็นเพลง บทกลอน การเขียนเรื่อง การแกะสลัก การวาดภาพ นอกจากนี้ก็มีประเทศต่างๆ เห็นความสำคัญของสัตว์ป่า ใช้รูปสัตว์ป่าเป็นเครื่องหมายหรือสัญญลักษณ์ เช่น รูปสิงโตในธงชาติ ของบางประเทศในทวีปอาฟริกา เป็นต้น

          5. คุณประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Values) เป็นคุณประโยชน์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ใช้สัตว์ป่าเป็นเครื่องมือทดลอง เช่น สาขาแพทย์ สัตววิทยา ชีววิทยาและสาขาอื่นๆ ใช้สัตว์ป่าทดลองด้านเชื้อโรค การทดลองส่งสัตว์ขึ้นไปกับยานอวกาศ การศึกษาทางด้านพฤติกรรมด้านสรีระวิทยา แร่ธาตุ การขยายพันธุ์ ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

          6. คุณประโยชน์ทางด้านสังคม (Social Values) ประโยชน์ทางด้านนี้มีความเกี่ยวข้องกับคุณประโยชน์ต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วซึ่งถ้าหากว่าเรามีสัตว์ป่าอยู่มากก็จะอำนวยประโยชน์ให้แก่เราทุกทางทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างหนึ่ง เมื่อเรากล่าวถึงคุณประโยชน์ของสัตว์แล้ว นับว่าสัตว์ป่ามีประโยชน์หลายด้านด้วยกัน ในปัจจุบันนี้สัตว์ป่าหลายชนิดหรือแทบทุกชนิดกำลังประสบกับปัญหาการลดจำนวนประชากรลง หรือหาได้ยากหรือใกล้จะสูญพันธุ์ บางชนิดก็สูญพันธุ์ไปแล้ว สืบเนื่องมาจากการล่าสัตว์ป่านำมาใช้ประโยชน์และ การทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งมีพบอยู่ทุกส่วนของโลก ก็ได้มีนักวิชาการ นักบริหารหลายสาขาได้พยายามที่จะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองสัตว์ป่าไว้เพื่อให้มีประโยชน์ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด


วิธีการอนุรักษ์สัตว์ป่า

ดำเนินงาน 5 ประการ คือ

          1. ออกกฎหมาย คือ การออกกฎหมายควบคุม คุ้มครองป้องกันสัตว์ป่า มิให้ลดจำนวนน้อยลง หรือสูญพันธุ์ไป เป็นการควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสัตว์ปาให้มีผลประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติมากที่สุด ซึ่งในประเทศไทยเราก็มีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์ ข้อบังคับระเบียบการต่างๆ เกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่า การค้าซากสัตว์ปา การล่าสัตว์ป่า ระยะเวลาและวิธีการล่า หรือการจับสัตว์ การครอบครองสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่า วิธีการปฏิบัติตามกฎหมาย การควบคุมการส่งสัตว์ป่าออกนอกราชอาณาจักร การกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนเกี่ยวกับผู้กระทำผิดกฎหมาย

          2. การควบคุมศัตรูสัตว์ เพื่อเป็นการป้องกันสัตว์ป่าถูกทำลาย โดยตัวเบียฬหรือป้องกัน มิให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปอยู่ร่วมกับสัตว์ป่า อันจะทำให้เกิดโรคระบาดหรือทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

          3. การจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือการสงวนแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นการจัดพื้นที่ป่าง่ายปลอดภัย และสัตว์ป่ามีโอกาสขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เช่น จัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า การจัดตั้งก็อาศัยกฎหมาย สำหรับการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็เพื่อให้สัตว์ป่าได้อาศัยอยู่อย่างปลอดภัย มีโอกาสขยายพันธุ์ตามธรรมชาติเพิ่มขึ้นและสัตว์ป่าบางส่วนจะกระจายจำนวนไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ข้างเคียง การจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นอกจากจะจัดตั้งเพื่อคุ้มครองสัตว์โดยทั่วไปแล้วบางส่วนยังจัดขึ้นเป็นพิเศษ คือ คุ้มครองป้องกันมิให้สัตว์ป่าที่หาได้ยากบางชนิดต้องสูญพันธุ์ไปภายในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่า ก็จัดให้มีการควบคุมป้องกัน การปรับปรุงแหล่งอาหารของสัตว์ ฯลฯ เป็นต้น

          4. ขยายพันธุ์สัตว์ป่าให้เพิ่มขึ้น โดยวิธีการตั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า โดยจะได้มีการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ หรือจัดให้มีการผสมเทียม สำหรับสัตว์ที่หาได้ยาก การจัดตั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงย่อมทำให้สัตว์ป่าบางชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะในด้านการค้า

          5. การปรับปรุงที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า หรือ (Biological Values) การปรับปรุงแหล่งน้ำ ที่หลบภัย การปลูกอาหารสัตว์เพิ่มเติมหรือการปรับปรุงสภาพป่าให้มีอาหารสัตว์เพิ่มเติม เช่น การทำแหล่งน้ำการตัดวัชพืชไม้พื้นล่างในป่าออกให้มีพืชชนิดอื่นที่เป็นอาหารสัตว์ ขึ้นอยู่และจัดให้มีการควบคุมพื้นที่นั้น เพื่อที่จะให้มีการดำเนินงานอนุรักษ์สัตว์ป่าสำเร็จตามความมุ่งหมายที่ให้ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่าคงมีอยู่ตลอดไปก็โดยปฏิบัติตามหลักการทั้งห้าประการดังกล่าวแล้ว

ละองหรือละมั่ง





ลักษณะ :
เป็นกวางที่มีขนาดโตกว่าเนื้อทราย แต่เล็กกว่ากวางป่า เมื่อโตเต็มวัยมีความสูงที่ไหล่ ๑.๒-๑.๓ เมตร น้ำหนัก ๑๐๐-๑๕๐ กิโลกรัม ขนตามตัวทั่วไปมีสีน้ำตาลแดง ตัวอายุน้อยจะมีจุดสีขาวตามตัว ซึ่งจะเลือนกลายเป็นจุดจางๆ เมื่อโตเต็มที่ในตัวเมีย แต่จุดขาวเหล่านี้จะหายไปจนหมด ในตัวผู้ตัวผู้จะมีขนที่บริเวณคอยาว และมีเขาและเขาของละอง จะมีลักษณะต่างจากเขากวางชนิดอื่นๆ ในประเทศไทย ซึ่งที่กิ่งรับหมาที่ยื่นออกมาทางด้านหน้า จะทำมุมโค่งต่อไปทางด้านหลัง และลำเขาไม่ทำมุมหักเช่นที่พบในกวางชนิดอื่นๆ


อุปนิสัย :
ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะเข้าฝูงเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ออกหากินใบหญ้า ใบไม้ และผลไม้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน แต่เวลาแดดจัดจะเข้าหลบพักในที่ร่ม ละอง ละมั่งผสมพันธุ์ในเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายน ตั้งท้องนาน ๘ เดือน ออกลูกครั้งละ ๑ ตัว


ที่อยู่อาศัย :
 
ละองชอบอยู่ตามป่าโปร่ง และป่าทุ่ง โดยเฉพาะป่าที่มีแหล่งน้ำขัง


เขตแพร่กระจาย :
ละองแพร่กระจายในประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเกาะไหหลำ ในประเทศไทยอาศัยอยู่ในบริเวณเหนือจากคอคอดกระขึ้นมา


สถานภาพ :
มีรายงานพบเพียง ๓ ตัว ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ละอง ละมั่งจัดเป็นป่าสงวนชนิดหนึ่งใน ๑๕ ชนิดของประเทศไทย และอนุสัญญา CITES จัดอยู่ใน Appendix


สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ : ปัจจุบัน ละอง ละมั่งกำลังใกล้จะสูญพันธุ์หมดไปจากประเทศไทย เนื่องจากสภาพป่าโปร่ง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกบุกรุกทำลายเป็นไร่นา และที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ทั้งยังถูกล่าอย่างหนักนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

พะยูน




ลักษณะ :
พะยูนจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีลำตัวเพรียวรูปกระสวย หางแยกเป็นสองแฉก วางตัวขนานกับพื้นในแนวราบ ไม่มีครีบหลัง ปากอยู่ตอนล่าง ของส่วนหน้าริมฝีปากบนเป็นก้อนเนื้อหนา ลักษณะเป็นเหลี่ยมคล้ายจมูกหมู ตัวอายุน้อยมีลำตัวออกขาว ส่วนตัวเต็มวัยมีสีชมพูแดง เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักตัวประมาณ ๓๐๐ กิโลกรัม


อุปนิสัย :
พะยูนอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว หลายครอบครัวจะหากินเป็นฝูงใหญ่ ออกลูกครั้งละ ๑ ตัว ใช้เวลาตั้งท้องนาน ๑๓ เดือน และจะโตเต็มที่เมื่อมีอายุ ๙ ปี


ที่อยู่อาศัย :
ชอบอาศัยหากินพืชจำพวกหญ้าทะเลตามพื้นท้องทะเลชายฝั่ง ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน


เขตแพร่กระจาย :
พะยูนมีเขตแพร่กระจาย ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของทวีปอาฟริกา ทะเลแดง ตลอดแนวชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียไปจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และตอนเหนือของออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบไม่บ่อยนัก ทั้งในบริเวณอ่าวไทยแถบจังหวัดระยอง และชายฝั่งทะเลอันดามัน แถบจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล


สถานภาพ :
ปัจจุบันพบพะยูนน้อยมาก พยูนที่ยังเหลืออยู่จะเป็นกลุ่มเล็กหรืออยู่โดดเดี่ยว บางครั้งอาจจะเข้ามาจากน่านน้ำของประเทศใกล้เคียง พะยูนจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน ๑๕ ชนิดของประเทศไทย และจัดโดยอนุสัญญา CITES ไว้ใน Appendix I


สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ :
เนื่องจากพะยูนถูกล่าเพื่อเป็นอาหาร ติดเครื่องประมงตาย และเอาน้ำมันเพื่อเอาเป็นเชื้อเพลิง ประกอบกับพะยูนแพร่พันธุ์ได้ช้ามาก นอกจากนี้มลพิษที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตามชายฝั่งทะเล ได้ทำลายแหล่งหญ้าทะเล ที่เป็นอาหารของพยูนเป็นจำนวนมาก จึงน่าเป็นห่วงว่าพะยูนจะสูญสิ้นไปจากประเทศในอนาคตอันใกล้นี้

แรด





ลักษณะ :
แรดจัดเป็นสัตว์จำพวกมีกีบ คือมีเล็บ ๓ เล็บทั้งเท้าหน้าและเท้าหลัง ตัวโตเต็มวัยมีความสูงที่ไหล่ ๑.๖-๑.๘ เมตร น้ำหนักตัว ๑
,๕๐๐-๒,๐๐๐ กิโลกรัม แรดมีหนังหนาและมีขนแข็งขึ้นห่างๆ สีพื้นเป็นสีเทาออกดำ ส่วนหลังมีส่วนพับของหนัง ๓ รอย บริเวณหัวไหล่ด้านหลังของขาคู่หน้า และด้านหน้าของขาคู่หลัง แรดตัวผู้มีนอเดียวยาวไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร ส่วนตัวเมียจะเห็นเป็นเพียงปุ่มนูนขึ้นมา


อุปนิสัย :
ในอดีตเคยพบแรดหากินร่วมเป็นฝูง แต่ในปัจจุบันแรดหากินตัวเดียวโดดๆ หรืออยู่เป็นคู่ในฤดูผสมพันธุ์ อาหารของแรดได้แก่ ยอดไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ และผลไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้นดิน แรดไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน จึงสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตกลูกครั้งละ ๑ ตัว ตั้งท่องนานประมาณ ๑๖ เดือน


ที่อยู่อาศัย:
แรดอาศัยอยู่เฉพาะในบริเวณป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ หรือตามป่าทึบริมฝั่งทะเล ส่วนใหญ่จะหากินอยู่ตามพื้นที่ราบ ไม่ค่อยขึ้นบนภูเขาสูง


เขตแพร่กระจาย :
 
แรดมีเขตกระจายตั้งแต่ประเทศบังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ลงไปทางแหลมมลายู สุมาตรา และชวา ปัจจุบันพบน้อยมากจนกล่าวได้ว่า เกือบจะหมดไปจากผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียแล้ว เชื่อว่ายังอาจจะมีคงเหลืออยู่บ้างทางเทือกเขาตะนาวศรี และในป่าลึกตามแนวรอยต่อจังหวัดระนอง พังงา และสุราษฎร์ธานี


สถานภาพ :
ปัจจุบันแรดจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน ๑๕ ชนิดของประเทศไทย และจัดอยู่ใน
Appendix 1 ของอนุสัญญา CITES ทั้งยังเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ตาม U.S.Endanger Species


สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ :
 
เช่นเดียวกับแรดที่พบบริเวณอื่นๆ ที่พบในประเทศไทยถูกล่าและทำลายอย่างหนัก เพื่อต้องการนอหรือส่วนอื่นๆ เช่น กระดูก เลือด ฯลฯ ซึ่งมีคุณค่าสูงยิ่ง เพื่อใช้ในการบำรุงและยาอื่นๆ นอกจากนี้บริเวณป่าที่ราบที่แรดชอบอาศัยอยู่ก็หมดไป กลายเป็นบ้านเรือนและเกษตรกรรมจนหมด

สมเสร็จ





ลักษณะ :
สมเสร็จเป็นสัตว์กีบคี่ เท้าหน้ามี ๔ เล็บ และเท้าหลังมี ๓ เล็บ จมูกและริมฝีปากบนยื่นออกมาคล้ายงวง ตามีขนาดเล็ก ใบหูรูปไข่ หางสั้น ตัวเต็มวัยมีน้ำหนัก ๒๕๐-๓๐๐ กิโลกรัม ส่วนหัวและลำตัวเป็นสีขาวสลับดำ ตั้งแต่ปลายจมูกตลอดท่อนหัวจนถึงลำตัว บริเวณระดับหลังของขาคู่หน้ามีสีดำ ท่อนกลางตัวเป็นแผ่นขาว ส่วนบริเวณโคนหางลงไปตลอดขาคู่หลัง จะเป็นสีดำ ขอบปลายหูและริมฝีปากขาว ลูกสมเสร็จลำตัวมีลายเป็นแถบ ดูลายพร้อยคล้ายลูกแตงไทย

อุปนิสัย :
สมเสร็จชอบออกหากินในเวลากลางคืน กินยอดไม้ กิ่งไม้ หน่อไม้ และพืชอวบน้ำหลายชนิด มักมุดหากินตามที่รกทึบ ไม่ค่อยชอบเดินหากินตามเส้นทางเก่า มีประสาทสัมผัสทางกลิ่นและเสียงดีมาก ผสมพันธุ์ในเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม ตกลูกครั้งละ ๑ ตัว ใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ ๑๓ เดือน สมเสร็จที่เลี้ยงไว้มีอายุนานประมาณ ๓๐ ปี

ที่อยู่อาศัย :
สมเสร็จชอบอยู่อาศัยตามบริเวณที่ร่มครึ้ม ใกล้ห้วยหรือลำธาร

เขตแพร่กระจาย :
สมเสร็จมีเขตแพร่กระจายจากพม่าตอนใต้ ไปตามพรมแดนด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ลงไปสุดแหลมมลายูและสุมาตรา ในประเทศไทยจะพบสมเสร็จได้ในป่าดงดิบตามเทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาตะนาวศรี และป่าทั่วภาคใต้

สถานภาพ :
ปัจจุบันสมเสร็จจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน ๑๕ ชนิดของประเทศไทย และจัดโดยอนุสัญญา CITES ไว้ใน Appendix I และจัดเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ตาม U.S. Endanger Species Act.


สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ :
การล่าสมเสร็จเพื่อเอาหนังและเนื้อ การทำลายป่าดงดิบที่อยู่อาศัยและหากิน โดยการตัดไม้ การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำและถนน ทำให้จำนวนสมเสร็จลดปริมาณลงจนหาได้ยาก

ก้งหม้อ






ลักษณะ :
เก้งหม้อมีลักษณะโดยทั่วไป คล้ายคลึงกับเก้งธรรมดา ขนาดลำตัวไล่เลี่ยกัน เมื่อโตเต็มที่น้ำหนักประมาณ ๒๐ กิโลกรัม แต่เก้งหม้อจะมีสีลำตัวคล้ำกว่าเก้งธรรมดา ด้านหลังสีออกน้ำตาลเข้ม ใต้ท้องสีน้ำตาลแซมขาว ขาส่วนที่อยู่เหนือกีบจะมีสีดำ ด้านหน้าของขาหลังมีแถบขาวเห็นได้ชัดเจน บนหน้าผากจะมีเส้นสีดำอยู่ด้านในระหว่างเขา หางสั้นด้านบนสีดำตัดกับสีขาวด้านล่างชัดเจน

อุปนิสัย :
เก้งหม้อชอบอาศัยอยู่เดี่ยว ในป่าดงดิบ ตามลาดเขา จะอยู่เป็นคู่เฉพาะฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น ออกหากินในเวลากลางวันมากกว่าในเวลากลางคืน อาหารได้แก่ ใบไม้ ใบหญ้า และผลไม้ป่า ตกลูกครั้งละ ๑ ตัว เวลาตั้งท้องนาน ๖ เดือน

ที่อยู่อาศัย :
ชอบอยู่ตามลาดเขาในป่าดงดิบและหุบเขาที่มีป่าหนาทึบและมีลำธารน้ำไหลผ่าน

เขตแพร่กระจาย :
เก้งหม้อมีเขตแพร่กระจาย อยู่ในบริเวณตั้งแต่พม่าตอนใต้ลงไปจนถึงภาคใต้ตอนบน ของประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศไทยพบในบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีลงไปจนถึงเทือกเขาภูเก็ต ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ในจังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานีและพังงา

สถานภาพ :
องค์การสวนสัตว์ ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเก้งหม้อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ ในปัจจุบันเก้งหม้อจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน ๑๕ ชนิดของประเทศไทย และองค์การ IUCN จัดเก้งหม้อให้เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์


สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ :
ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์หมดไปจากประเทศ เนื่องจากมีเขตแพร่กระจายจำกัด และที่อยู่อาศัยถูกทำลายหมดไปเพราะการตัดไม้ทำลายป่า การเก็บกักน้ำเหนือเขื่อนและการล่าเป็นอาหาร เก้งหม้อเป็นเนื้อที่นิยมรับประทานกันมาก

กวางผา







ลักษณะ :
กวางผาเป็นสัตว์จำพวก แพะแกะเช่นเดียวกับเลียงผา แต่มีขนาดเล็กกว่า เมื่อโตเต็มที่มีความสูงที่ไหล่มากกว่า ๕๐ เซนติเมตร เพียงเล็กน้อย และมีน้ำหนักตัวประมาณ ๓๐ กิโลกรัม ขนบนลำตัวสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลปนเทา มีแนวสีดำตามสันหลงไปจนจดหาง ด้านใต้ท้องสีจางกว่าด้านหลัง หางสั้นสีดำ เขาสีดำมีลักษณะเป็นวงแหวนรอบโคนเขา และปลายเรียวโค้งไปทางด้านหลังอุปนิสัย : ออกหากินตามที่โล่งในตอนเย็น และตอนเช้ามืด หลับพักนอนตามพุ่มไม้ และชะง่อนหินในเวลากลางคืน อาหาร ได้แก่ พืชที่ขึ้นตามสันเขาและหน้าผาหิน เช่น หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกลูกก่อ กวางผาอยู่รวมกันเป็นฝูงๆละ ๔-๑๒ ตัว ผสมพันธุ์ในราวเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ออกลูกครอกละ ๑-๒ ตัว ตั้งท้องนาน ๖ เดือน

ที่อาศัย :
กวางผาจะอยู่บนยอดเขาสูงชันในที่ระดับน้ำสูงชันมากกว่า ๑
,๐๐๐ เมตร

เขตแพร่กระจาย :
กวางผามีเขตแพร่กระจายตั้งแต่แคว้นแพร่กระจาย ตั้งแต่แคว้นแคชเมียร์ลงมาจนถึงแคว้นอัสสัม จีนตอนใต้ พม่าและตอนเหนือของประเทศไทย ในประเทศไทยมีรายงานพบกวางผาตามภูเขาที่สูงชันในหลายบริเวณ เช่น ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ดอยเลี่ยม ดอยมือกาโด จังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณสองฝั่งลำน้ำปิงในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดตาก

สถานภาพ :
กวางผาจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน ๑๕ ชนิดของประเทศไทยและอนุสัญญา
CITES จัดไว้ใน Appendix I


สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ :
เนื่องจากการบุกรุกถางป่าที่ทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาในระยะเริ่มแรกและชาวบ้านในระยะหลัง ทำให้ที่อาศัยของกวางผาลดน้อยลง เหลืออยู่เพียงตามยอดเขาที่สูงชัน ประกอบกับการล่ากวางผาเพื่อเอาน้ำมันมาใช้ในการสมานกระดูกที่หักเช่นเดียวกับเลียงผา จำนวนกวางผาในธรรมชาติจึงลดลงเหลืออยู่น้อยมาก

แมวลายหินอ่อน




ลักษณะ :
แมวลายหินอ่อนเป็นแมวป่าขนาดกลาง น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่ ๔-๕ กิโลกรัม ใบหูเล็กมนกลมมีจุดด้านหลังใบหู หางยาวมีขนหนาเป็นพวงเด่นชัด สีขนโดยทั่วไปเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง มีลายบนลำตัวคล้ายลายหินอ่อน ด้านใต้ท้องจะออกสีเหลืองมากกว่า ด้านหลังขาและหางมีจุดดำ เท้ามีพังผืดยืดระหว่างนิ้ว นิ้วมีปลอกเล็บสองชั้น และเล็บพับเก็บได้ในปลอกเล็บทั้งหมด


อุปนิสัย :
ออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนใหญ่มักอยู่บนต้นไม้ อาหารได้แก่สัตว์ขนาดเล็กแทบทุกชนิดตั้งแต่แมลง จิ้งจก ตุ๊กแก งู นก หนู กระรอก จนถึงลิงขนาดเล็ก นิสัยค่อนข้าดุร้าย


ที่อยู่อาศัย :
ในประเทศไทยพบอยู่ตามป่าดงดิบเทือกเขาตะนาวศรีและป่าดงดิบชื้น ในภาคใต้


เขตแพร่กระจาย :
แมวป่าชนิดนี้มีเขตแพร่กระจายตั้งแต่ประเทศเนปาล สิกขิม แคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ผ่านทางตอนเหนือของพม่า ไทย อินโดจีน ลงไปตลอดแหลมมลายู สุมาตราและบอร์เนียว


สถานภาพ :
แมวลายหินอ่อนจัดเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งใน ๑๕ ชนิดของประเทศไทย และอนุสัญญา
CITES จัดอยู่ใน Appendix I


สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์:
เนื่องจากแมวลายหินอ่อนเป็นสัตว์ที่หาได้ยาก และมีปริมาณในธรรมชาติค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับแมวป่าชนิดอื่นๆ จำนวนจึงน้อยมาก และเนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และถูกล่าหรือจับมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีราคาสูง จำนวนแมวลายหินอ่อนจึงน้อยลง ด้านชีววิทยาของแมวป่าชนิดนี้ยังรู้กันน้อยมาก

ควายป่า






ลักษณะ :
ควายป่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวกับ ควายบ้าน แต่มีลำตัวขนาดลำตัวใหญ่กว่า มีนิสัยว่องไว และดุร้ายกว่าควายบ้านมาก ตัวโตเต็มวัยมีความสูงที่ไหล่เกือบ ๒ เมตร น้ำหนักมากกว่า ๑,๐๐๐ กิโลกรัม สีลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีเทา หรือสีน้ำตาลดำ ขาทั้ง ๔ สีขาวแก่ หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้าสีขาว ด้านล่างของลำตัวเป็นลายสีขาวรูปตัววี ( V ) ควายป่ามีเขาทั้ง ๒เพศ เขามีขนาดใหญ่กว่าควายเลี้ยง วงเขากางออกกว้างโค้งไปทางด้านหลัง ด้านตัดขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายเขาเรียวแหลม


อุปนิสัย :
ควายป่าชอบออกหากินในเวลาเช้า และเวลาเย็น อาหารได้แก่ พวกใบไม้ หญ้า และหน่อไม้ หลังจากกินอาหารอิ่มแล้ว ควายป่าจะนอนเคี้ยวเอื้องตามพุ่มไม้ หรือนอนแช่ปรักโคลนตอนช่วงกลางวัน ควายป่าจะอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ฤดูผสมพันธุ์อยู่ราวๆ เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ตกลูกครั้งละ ๑ ตัว ตั้งท้องนาน ๑๐ เดือน เท่าที่ทราบควายป่ามีอายุยืน ๒๐-๒๕ ปี


เขตแพร่กระจาย :
ควายป่ามีเขตแพร่กระจายจากประเทศเนปาลและอินเดีย ไปสิ้นสุดทางด้านทิศตะวันออกที่ประเทศเวียดนาม ในประเทศไทยปัจจุบันมีควายป่าเหลืออยู่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี


สถานภาพ :
ปัจจุบันควายป่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยมาก จนน่ากลัวว่าอีกไม่นานจะหมดไปจากประเทศ ควายป่าจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน ๑๕ ชนิดของประเทศไทย และอนุสัญญา
CITES จัดควายป่าไว้ใน Appendix III


สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ :
เนื่องจากการถูกล่าเพื่อเอาเนื้อและเอาเขาที่สวยงาม และการสูญเชื้อพันธุ์ เนื่องจากไปผสมกับควายบ้าน ที่มีผู้เอาไปเลี้ยงปล่อยเป็นควายปละในป่า ในกรณีหลังนี้บางครั้งควายป่าจะติดโรคต่างๆ จากควายบ้าน ทำให้จำนวนลดลงมากยิ่งขึ้น